ประวัติความเป็นมา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช ได้มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาคณาจารย์
เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2517 และต่อมาได้มีการประกาศใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วย สภาคณาจารย์ พ.ศ. 2517 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2517
และได้มีสมาชิกสภาคณาจารย์ชุดแรก เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม พ.ศ. 2517
ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์ เป็นประธานสภาคณาจารย์
มหาวิทยาลัยมหิดลคนแรก
สภาคณาจารย์ดำเนินการมาด้วยดีเป็นเวลา 3 ปี
จนถึงสมัยปฏิรูปการปกครอง (6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล
ครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้สั่งระงับกิจการของสภาคณาจารย์เป็นการชั่วคราว
ซึ่ง
ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ทบวงมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือแจ้งสถานภาพของสภาคณาจารย์
ความว่า "ในระยะนี้หากมหาวิทยาลัยสถาบันใดที่ยังไม่มีสภาคณาจารย์อยู่ก็ยังไม่ควรจัดตั้งขึ้นใหม่
แต่ถ้ามีสภาคณาจารย์อยู่แล้วก็อาจ
ดำเนินการได้ โดยถือเป็นหน่วยแสดงความเห็นในฐานะเป็นที่ปรึกษาของอธิการบดี
ทั้งนี้ จะต้องเป็นการดำเนินการภายในโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการหรือบุคคลภายนอก
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเป็นข้าราชการ
ประจำ" กิจการของสภาคณาจารย์จึงได้หยุดชะงักไปหลายปี แต่มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีสภาอาจารย์ระดับคณะและดำเนินการอยู่ตลอดเวลา
เมื่อรัฐบาลปฎิรูปพ้นไป สภาอาจารย์คณะก็ได้รวมตัวกันขึ้น และขอให้สภามหาวิทยาลัยยกเลิกมติที่ประชุม
ครั้งที่ 39 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2520 ซึ่งก็ได้รับการตอบสนอง
โดยต่อมาได้มีการประกาศใช้ข้อบังคับสภาคณาจารย์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม
พ.ศ. 2524 และคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
สภาคณาจารย์ได้ถูกบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2530 เป็นครั้งแรก โดยมีบทบัญญัติ ตามมาตรา 22 กำหนด "ให้มีสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย
ประกอบด้วย สมาชิก ซึ่งคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
เลือกตั้งจากคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย
สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ให้คำปรึกษา และคำแนะนำแก่อธิการบดี
และหน้าที่อื่น ตามที่สภามหาวิทยาลัย หรืออธิการบดีจะมอบหมาย จำนวนสมาชิก
หลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้ง
และการดำเนินงานของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย"
ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 ก็ได้บัญญัติให้มีสภาคณาจารย์ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย ตามมาตรา 26 และกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาคณาจารย์ไว้ใน มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2550 |